มารีวิวเครื่องชาร์จ BENY กัน จุดเริ่มต้นก่อนมองหาเครื่องชาร์จที่รองรับ DLB ( Dynamic Load Balancing) ก็คือผมได้ติดตั้งโซล่าเซลล์ก่อนเลือกใช้รถไฟฟ้า ในที่นี้ขอเรียกโซล่าเซลล์ย่อ ๆ ว่า PV (มาจาก Photovoltaic Cell อ้างอิงจาก เซลล์แสงอาทิตย์ – วิกิพีเดีย ) โดย PV ที่เลือกใช้ยี่ห้อ Enphase เป็นแบบ Micro-Inverter หรือจะมี Inverter 1 ตัวต่อ 1 แผง ดังรูป
ไม่นานผมก็ได้ซื้อรถไฟฟ้า BYD รุ่น Atto 3 เป็นรุ่นแรกที่ทาง BYD ยังแถม Wall Charger ขนาดกำลังไฟฟ้า 7.4 kW หรือจ่ายกระแสสูงสุดได้ 32 A แบบไม่มี App มาให้ และการตั้งค่าจ่ายกระแส เป็นการเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดจาก 6A ไปจนถึง 32A จริงๆ ก็ใช้งานได้ และผมจะไม่ติดอะไรเลยหาก ผมอยู่บ้านแค่ช่วงเย็น ใช้ไฟในเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน วิธีประหยัดไฟของผมก็อาจเป็นเพียงแค่ใช้อัตรา TOU เพื่อประหยัดค่าไฟทั้งที่ใช้กับตัวบ้านและชาร์จรถ เพราะใช้ในช่วง Off-Peak ส่วนกลางวันก็มี PV ไปตัดประหยัดค่าไฟในช่วง Off-Peak
แต่ผลพวงของช่วงโควิดทำให้ลักษณะงานของผมสามารถทำงานแบบ Work from Home ได้เป็นอย่างดี จนกลายมาเป็น New Normal จริง ๆ หลังหมดช่วงโควิดแล้ว ทำให้ผมมักจะอยู่ทำงานที่บ้านในกลางวัน และออกไปทำงานนอกสถานที่น้อยมากในแต่ละเดือน จึงมีความคิดว่าหากนำไฟที่ PV ผลิตได้ และเหลือจากบ้านบริโภคไปแล้ว เหลือเท่าไหร่นำมาชาร์จรถ แบบนั้นก็น่าจะยิ่งคุ้มค่าเข้าไปใหญ่ เพราะหากเป็นเครื่องชาร์จที่แถมมาหากตั้งค่าไว้ให้ชาร์จ 10A แต่ PV ในช่วงขณะนั้นผลิตได้เพียง 4 kW (ประมาณ 18A หากคิดที่แรงดัน 220V) และบ้านบริโภคไป 2.5 kW (ประมาณ 11.3 A หากคิดที่แรงดัน 220V) ทำให้เหลือไม่เพียงพอให้ดึงกระแส 10A จาก PV เพียงอย่างเดียว แต่จะมีการดึงไฟจาก Grid ของการไฟฟ้ามาร่วมด้วยทำให้เสียค่าไฟส่วนนี้ให้กับการไฟฟ้า
เลยมานั่งคิดว่ามีใครคิด Charger ชนิดที่ดูว่า PV ผลิตได้เท่าไหร่ บ้านใช้ไปเท่าไหร่ เหลือเพียงพอให้ชาร์จรถไหม พอก็ชาร์จไม่พอก็หยุด พบว่าระบบนี้เขาเรียกว่า DLB ( Dynamic Load Balancing) และพบว่ามีตัวแทนจำหน่ายในประเทศอย่าง ChargeDee นำเข้ามาจำหน่าย เลยติดต่อขอซื้อผลิตภัณฑ์พร้อมติดตั้ง
เลือกใช้เครื่องชาร์จเป็นยี่ห้อ BENY Smart
รุ่นที่มาพร้อมกับ PV DLB Box ที่ทำหน้าที่นำการผลิตไฟจาก PV การบริโภคไฟของบ้าน มาคำนวณว่าเหลือเพียงพอต่อการใช้ชาร์จรถหรือไม่ โดยวงจรการต่อคร่าว ๆ เป็นดังนี้
จากภาพจะเห็นว่ากล่อง PV DLB Box มีการอ่านค่ากระแสผ่าน CT (Current Transformer) สองจุดมาคำนวณ และสั่งจ่ายไฟไปยัง Charger ผ่าน RS485 Communication เท่าที่ผู้เขียนเห็นน่าจะเป็น RJ45 Interface
ภาพด้านบนแสดงกล่อง PV DLB Box เราสามารถดู และควบคุมการจ่ายไฟผ่านทางส่วนติดต่อของกล่องได้โดยตรง
โดยเราสามารถเข้าไปกำหนดการจ่ายไฟจากส่วนต่าง ๆ ได้ แต่ผมว่าการใช้งานผ่าน App น่าจะให้ประสบการณ์ที่ดีกว่าในการใช้งาน แถมปกติแล้วมักจะติดตั้งกล่อง PV DLB Box ไว้ใกล้กับ Main Circuit Breaker ของบ้านซึ่งอยู่ที่สูง ไม่น่าสะดวกต่อการใช้งานซักเท่าไหร่นอกเหนือจากนั้นยังมาพร้อม RFID Card เพื่อสั่งเปิดใช้งานเครื่อง หรือสั่งผ่าน App ก็ได้ โดยส่วนตัว RFID Card ผมไม่เคยแกะออกจากถุงที่ให้มาแม้แต่ครั้งเดียว เพราะใช้งานผ่าน App สะดวกกว่า App สามารถเชื่อมต่อไปยังเครื่องชาร์จได้สองทางคือผ่าน Bluetooth หรือ WIFI คิดว่าผ่านทาง Bluetooth เสถียรกว่ามาก
เมื่อเชื่อมต่อไปยังเครื่องชาร์จได้แล้ว เราสามารถเลือกใช้ PV Dynamic Lod Balance ได้หน้า Setting ดังรูป
ผลทดสอบการใช้
จากภาพด้านบน ทางด้านซ้ายเป็น Live Status จาก App ของ Enphase พบว่า PV ผลิดไฟได้ประมาณ 3 kW และจ่ายให้บ้านประมาณ 2.6 kW และส่งกลับไปขายคืนให้กับการไฟฟ้า 0.4 kW
หากเทียบการ App ของ BENY จะมีค่าใกล้เคียงกันมาก (ค่าคาดเคลื่อนกันนิดหน่อย เพราะเป็นการเปิด App ต่างเวลากัน และแสงแดดได้เปลี่ยนแปลงไปตามพลวัต) นั้นคือหากนำส่วนที่ชาร์จรถ 1.31 kW มาบวกกับที่จ่ายให้ตัวบ้าน 1.5 kW เท่ากับ 2.81 kW ก็จะใกล้เคียงกับที่ App ของ Enphase รายงานไว้ 2.6 kW (ทั้งนี้ App ของ Enphase ไม่รับรู้การมีอยู่ของ Charger มองเป็นการบริโภคของบ้านทั้งสิ้น) และส่วนที่เกินไม่ได้ใช้ก็ส่งไปขายคืนการไฟฟ้า ค่าที่ได้ก็ใกล้เคียงกันใน App ของ BENY รายงานไว้ 0.37 kW ส่วน App ของ Enphase รายงานไว้ 0.4 kW
หลังจากทดลองใช้งานดูแล้วประทับใจมาก เรายังสามารถเลือกต่อไปอีกว่าจะใช้ Extreme Mode หรือไม่คือหากที่ PV ผลิตได้ไม่พอต่อการชาร์จให้หยุดชาร์จชั่วคราว พอแล้วค่อยกลับมาชาร์จต่อ การสื่อสารกับตัวรถเพื่อตัดต่อในจุดนี้ สำหรับเครื่องชาร์จ BENY กับ BYD Atto 3 ไม่มีอาการเอ๋อให้เห็น
โดยปกติแล้วในส่วนของ PV Dynamic Load Balance ผมมักจะเลือกใช้ Photovoltaic Mode เป็นหลัก แต่ก็มีบ้างในวันที่ฟ้าไม่เป็นใจทำยังไง PV ก็ผลิตได้ไม่มากพอ หรือบ้านดึงไฟไปหมด เหลือไม่พอที่จะนำมาชาร์จรถ เราสามารถเปลี่ยนมาใช้ Mains hybrid Mode เพื่ออนุญาตให้ดึงไฟจาก Grid โดยระบุจำนวนแสที่ต้องการดึงเพิ่มเขาไปว่าอั้นไว้ให้ดังจาก Grid ไม่เกินกี่แอมป์ เท่านี้เราก็สามารถชาร์จรถในสถานการณ์แบบนี้ได้
สรุป
สำหรับใครที่กำลังมองหาโซลูชั่นแบบเดียวกันกับผม ช่วงเวลาการชาร์จรถเป็นกลางวันมากกว่ากลางคืน ต้องการรีดการใช้งาน PV ให้ได้มากที่สุด จ่ายเงินให้การไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น แนะนำมองหาเครื่องชาร์จ BENY Smart รุ่น PV DLB เลยครับ
ผู้เขียน
ภัคพงศ์ กฤตวัฒน์
Data Engineer, Instructor , Microsoft Certified Trainer (Data Platform)
Data Meccanica Co.,Ltd.